เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 6.สุราปานวรรค 7.นหานสิกขาบท นิทานวัตถุ
6. สุราปานวรรค

7. นหานสิกขาบท
ว่าด้วยการสรงน้ำนอกสมัย

เรื่องพระเจ้าพิมพิสาร
[357] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่
ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายสรงน้ำในแม่น้ำตโปทา1 ทีนั้น
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐเสด็จไปแม่น้ำตโปทาด้วยมีพระราชประสงค์จะทรง
สนานพระเศียร ประทับรออยู่ด้านหนึ่ง ด้วยพระดำริว่า “เราจะสนานต่อเมื่อพระคุณ
เจ้าทั้งหลายสรงน้ำเสร็จแล้ว” ภิกษุสรงน้ำจนพลบค่ำ ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารจอม
ทัพมคธรัฐต้องทรงสนานพระเศียรในเวลาพลบคํ่า เมื่อประตูเมืองปิดจำต้องประทับ
แรมอยู่นอกเมือง เช้าตรู่จึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับทั้ง ๆ ที่
เครื่องประทินในพระวรกายยังไม่จางหายเลย ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาคแล้วประทับ ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐผู้ประทับนั่ง ณ ที่
สมควรดังนี้ว่า “เหตุไรพระองค์จึงเสด็จมาแต่เช้าทั้ง ๆ ที่เครื่องประทินในพระวรกาย
ยังไม่จางหาย” ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐกราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้
มีพระภาคทรงทราบ ทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพ
มคธรัฐเห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบ
ชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐผู้
ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้

เชิงอรรถ :
1 แม่น้ำตโปทา คือแม่นํ้าสายนี้มีนํ้าร้อนเดือดพล่าน ต้นกำเนิดไหลมาจากแอ่งทะเลสาบใต้ภูเขาเวภารบรรพต
ไหลตัดผ่านพระนครราชคฤห์ นํ้าในแอ่งต้นกำเนิดใสเย็น แต่พอไหลเป็นสายแม่นํ้าแล้วกลายเป็นนํ้าร้อน
อรรถกถาอธิบายว่า สาเหตุที่นํ้าในแม่นํ้ามีความร้อนนั้น เพราะไหลผ่านมาระหว่างมหานรก 2 ขุม (ดู
พระวินัยปิฎกแปล เล่ม 1 ข้อ 231 หน้า 245, สํ.อ. 1/20/38)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :483 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 6.สุราปานวรรค 7.นหานสิกขาบท พระบัญญัติ
อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกขึ้นจาก
อาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว ทำประทักษิณแล้วเสด็จไป

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอเห็นพระราชาก็ยัง
อาบน้ำไม่รู้ความพอดี จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกโมฆบุรุษ
เหล่านั้นเห็นพระราชาแล้วก็ยังอาบน้ำไม่รู้ความพอดีเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใด ยังไม่ถึงครึ่งเดือน อาบน้ำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระเจ้าพิมพิสาร จบ

ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาบนํ้าได้ในสมัยที่ร้อน
[358] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรง ไม่ยอมอาบนํ้าในสมัยที่ร้อน
ในสมัยที่อบอ้าว จำวัดทั้ง ๆ ที่เนื้อตัวยังชุ่มเหงื่อ จีวรก็ดี เสนาสนะก็ดีเสียหาย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระ
ภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ยังไม่ถึงครึ่งเดือน เราอนุญาตให้อาบ
นํ้าในสมัยที่ร้อน ในสมัยที่อบอ้าวได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้น
แสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :484 }